Taff Vale Case ; Taff Vale Judgement (1900–1901)

คดีทัฟฟ์เวล , คำวินิจฉัยคดีทัฟฟ์เวล (พ.ศ. ๒๔๔๓–๒๔๔๔)

คดีทัฟฟ์เวลหรือคำวินิจฉัยคดีทัฟฟ์เวลเป็นการตัดสินคดีของศาลอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่ระบุว่า สหภาพแรงงาน (trade union) อาจถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประกอบการจากการที่สมาชิกของสหภาพแรงงานกระทำการนัดหยุดงานจนก่อความเสียหายให้แก่ฝ่ายนายจ้าง คำตัดสินนี้เท่ากับเป็นการปฏิเสธหรือลบล้างความเข้าใจเดิมของผู้ใช้แรงงานที่เชื่อว่าพระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน ค.ศ. ๑๘๗๑ (Trade Union Act of 1871) ทำให้การนัดหยุดงานเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเงินทุนของบรรดาสหภาพแรงงานจะได้รับความคุ้มครอง ความขุ่นเคืองและความผิดหวังในคำตัดสินของศาลทำให้จำนวนสหภาพแรงงานที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงาน (Labour Representation Committee-LRC) ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครเพื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) เพิ่มขึ้นมากและช่วยเร่งกระบวนการของการจัดตั้งพรรคแรงงาน (Labour Party)* อย่างจริงจังขึ้นในระบบการเมืองอังกฤษเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ในที่สุดรัฐบาลจากพรรคเสรีนิยมได้ร่วมมือกับคณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๐๖ ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้สมัครของทั้ง ๒ ฝ่าย แย่งคะแนนเสียงกันเอง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว รัฐบาลได้ผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงาน (Trade Disputes Act) ในปีนั้นทันทีซึ่งเท่ากับเป็นการกลับคำวินิจฉัยคดีทัฟฟ์เวลเพราะกฎหมายใหม่ระบุว่าการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยไม่ต้องรับผิดต่อค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

 คดีทัฟฟ์เวลเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีการนัดหยุดงานของแรงงานเหมืองถ่านหินในเขตเซาท์เวลส์ (South Wales) บ่อยครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓–๑๘๙๘ เหมืองถ่านหินนี้เป็นแหล่งผลิตถ่านหินสำคัญ การหยุดงานก่อผลกระทบต่อทั้งคนงานเหมืองและคนงานรถไฟที่ทำหน้าที่ขนส่งถ่านหินจากเขตเซาท์เวลส์เพราะข้อตกลงการจ้างงานอย่างน้อย ๖๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์อาจถูกระงับและอาจถูกปลดจากงานได้แต่เมื่ออังกฤษต้องสู้รบในสงครามบัวร์ (Boer Wars)* ในแอฟริกาใต้เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์และอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ อังกฤษจึงต้องการถ่านหินจากเขตเซาท์เวลส์ในปริมาณเพิ่มขึ้น คนงานเหมืองได้รับค่าแรงเพิ่มตามที่ต่อรองแต่คนงานรถไฟไม่ได้รับทั้งที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ประธานบริษัทรถไฟทัฟฟ์เวล (Taff Vale Railway Company) ซึ่งมีทัศนคติในทางลบต่อสหภาพแรงงานโดยเห็นว่าเป็นองค์กรที่เป็นอันตรายต่อการประกอบอุตสาหกรรมปฏิเสธที่จะเจรจากับกลุ่มสมาคมแรงงานรถไฟ (Amalgamated Society of Railway Servants–ASRS) ที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๑ และมีสถานภาพเป็นสหภาพแรงงานคนงานบริษัทรถไฟทัฟฟ์เวลซึ่งเดินรถในเมืองกลามอร์แกน (Glamorgan) ในเซาท์เวลส์จำนวน ๑,๓๒๗ คน จึงได้นัดหยุดงานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ เพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม บริษัทตอบโต้ด้วยการรับคนงานจากภายนอกโดยผ่านสมาคมแรงงานอิสระแห่งชาติ (National Free Labour Association) เพื่อทำงานแทนและสั่งให้แรงงานที่ประท้วงพร้อมด้วยครอบครัวโยกย้ายออกจากเรือนพักที่บริษัทจัดหาให้ ผู้ประท้วงจึงตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการทารางรถไฟให้ลื่นและปลดโบกี้รถไฟให้หลุดจากกัน การประท้วงดำเนินไปเป็นเวลา ๑๑ วัน เมื่อบริษัททัฟฟ์เวลเผชิญการตอบโต้แบบผนึกกำลังกันเช่นนี้ ก็มีท่าทีอ่อนลงจนทำให้พนักงานกลับเข้าทำงานเช่นเดิม การนัดหยุดงานจึงยุติลงภายใน ๒ สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ไม่นานต่อมาบริษัททัฟฟ์เวลกลับเปลี่ยนใจยื่นฟ้องกลุ่มสมาคมแรงงานรถไฟเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย เซอร์จอร์จ ฟาร์เวลล์ (George Farwell) ผู้พิพากษาตัดสินให้บริษัทชนะคดี ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าการฟ้องร้องสหภาพแรงงานจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะไม่ใช่องค์กรที่รวมตัวกันตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ (Law of Trusts) และไม่ใช่ปัจเจกบุคคลด้วย การตัดสินครั้งนี้ได้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

 ความเข้าใจทั่วไปที่ว่าการนัดหยุดงานเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเกิดจากการที่รัฐสภาอังกฤษออกพระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน ค.ศ. ๑๘๗๑ ที่ให้สถานะทางกฎหมายแก่สหภาพแรงงานหลังจากที่สหภาพแรงงานต่อสู้มาอย่างยาวนาน กล่าวคือ นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ผู้ใช้แรงงานชาวอังกฤษได้พยายามรวมตัวกันในการเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น เนื่องจากการเรียกร้องโดยลำพังยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่ทางการอังกฤษและฝ่ายผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของผู้ใช้แรงงาน และในยามที่บ้านเมืองเผชิญกับภัยจากสงครามนอกประเทศมาโดยตลอด รัฐบาลอังกฤษจึงเกรงว่าการรวมตัวกันของชนชั้นล่างอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะในช่วงสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* ใน ค.ศ. ๑๗๙๙–๑๘๐๐ จึงมีการออกพระราชบัญญัติห้ามการรวมกลุ่มแรงงาน (Combination Acts) หลายฉบับเพื่อให้การก่อตั้งสหภาพแรงงานต่าง ๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ใช้แรงงานตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปหากชักชวนกันเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงหรือต่อรองชั่วโมงทำงาน เป็นต้น จะถูกขังคุก ๓ เดือน หรือถูกใช้งานหนัก ๒ เดือน

 ต่อมา ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๔–๑๘๒๕ รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมที่มีรอเบิร์ต เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูล (Robert Jenkinson, 2ᶰᵈ Earl of Liverpool)* เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มมีรัฐมนตรีแนวเสรีนิยมหลายคนเข้าร่วมรัฐบาล เช่น รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* วิลเลียม ฮัสกิสสัน (William Huskisson) ซึ่งเรียกว่า พวกลิเบอรัลทอรี (Liberal Tory) รัฐบาลจึงยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามการรวมกลุ่มแรงงานและออกกฎหมายฉบับใหม่ การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองค่าแรงและชั่วโมงการทำงานจึงกระทำได้แต่ห้ามประท้วงด้วยการนัดหยุดงาน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลทราบว่ามีการชุมนุมประกอบพิธีกรรมและการทำพิธีให้สัตย์ปฏิญาณของสมาชิกสหภาพแรงงานในลักษณะลึกลับบ่อยครั้งขึ้นซึ่งอาจเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย ดังนั้นเมื่อสมาชิกของสหภาพแรงงานหนึ่งในมณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire) ตกลงหยุดงานใน ค.ศ. ๑๘๓๔ รัฐบาลจึงดำเนินการอย่างเด็ดขาดด้วยการลงโทษเนรเทศผู้กระทำผิด จำนวน ๖ คน ไปยังอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์หรือออสเตรเลียเป็นเวลา ๗ ปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านของสาธารณชน (แต่ภายหลังได้รับการอภัยโทษใน ค.ศ. ๑๘๓๖) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๗๑ รัฐสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติสหภาพแรงงานซึ่งรับรองสถานะทางกฎหมายของสหภาพแรงงานแต่ให้จดทะเบียนในนามสมาคมสงเคราะห์สหาย (Friendly Societies) และใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ได้มีการออกพระราชบัญญัติการสมคบคิดและการคุ้มครองทรัพย์สิน (Conspiracy and Protection of Property Act) ที่อนุญาตการนัดหยุดงานอย่างสงบและคุ้มครองสินทรัพย์ของสหภาพแรงงานต่าง ๆ

 ในกระบวนการพิจารณาคดีของบริษัทรถไฟ ทัฟฟ์เวล ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๐ แต่บริษัทรถไฟทัฟฟ์เวลยื่นอุทธรณ์คำตัดสินอีกครั้งไปยังสภาขุนนาง (House of Lords) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ด้วยจนถึง ค.ศ. ๒๐๐๙ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ คณะกฎหมายแห่งสภาขุนนางตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า เมื่อสหภาพสามารถถือครองทรัพย์สิน และสามารถก่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่นได้ดังนั้น สหภาพแรงงานจึงต้องรับผิดชอบความเสียหายที่ได้กระทำการละเมิดต่อผู้อื่น ในกรณีคดีทัฟฟ์เวลนี้ความเสียหายเกิดจากการที่คนงานของบริษัทประท้วงด้วยการหยุดงานอันถือได้ว่าไม่เป็นไปตามสัญญาว่าจ้างทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเพราะเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การวินิจฉัยคดีเช่นนี้ทำให้บริษัทรถไฟทัฟฟ์เวลได้รับเงินค่าเสียหายจำนวน ๒๓,๐๐๐ ปอนด์ และเมื่อบวกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจำนวน ๑๙,๐๐๐ ปอนด์ จึงรวมเป็นจำนวนเงินที่ศาลตัดสินให้กลุ่มสมาคมแรงงานรถไฟต้องจ่ายทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ ปอนด์ คำวินิจฉัยคดีนี้ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่บรรดานายจ้างทั่วประเทศกลายเป็นการวางแนวทางในกฎหมายจารีต (Common Law) ว่าสหภาพแรงงานต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของสมาชิก ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจะไม่สามารถใช้การนัดหยุดงานเป็นอาวุธหรือเครื่องมือในการร่วมกันต่อรองกับฝ่ายนายจ้างหรือผู้ประกอบการอีกต่อไปซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การดำรงอยู่ของสหภาพแรงงานก็เป็นอันว่าไร้ประโยชน์

 ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคำตัดสินเป็นแรงผลักดันให้ที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงาน (Trade Union Congress–TUC) เห็นความจำเป็นของการจัดตั้งพรรคแรงงานโดยเร็วเพื่อให้มีตัวแทนในรัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมาย จำนวนผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๔๕๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ และเป็น ๘๕๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐–๑๙๐๖ จำนวนผู้ใช้แรงงานที่คณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานส่งเข้าสมัครได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญเพิ่มขึ้นมากจากจำนวน ๒ คน เป็น ๒๙ คน คณะกรรมาธิการผู้แทนแรงงานก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ในปีนี้ เมื่อพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ซึ่งมีเซอร์เฮนรี แคมป์เบลล์-แบนเนอร์มัน (Henry Campbell-Bannerman)* เป็นหัวหน้าพรรคเขาร่วมมือกับพรรคแรงงานในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจนทำให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปและจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลพรรคเสรีนิยมซึ่งตระหนักดีว่าพรรคแรงงานซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองต้องการให้แก้ปัญหาทางตันเรื่องสหภาพแรงงาน จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงาน ค.ศ. ๑๙๐๖ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบทั้งในสภาสามัญและสภาขุนนาง คำตัดสินคดีทัฟฟ์เวลจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าการเรียกร้องให้หยุดงานอย่างสงบเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานจะไม่ถูกดำเนินคดีและเงินทุนของสหภาพก็ได้รับความคุ้มครองนับตั้งแต่นั้น การฟ้องร้องสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการนัดหยุดงานไม่อาจทำได้เพราะเป็นการกระทำที่มีกฎหมายรองรับ มีผู้เปรียบว่าการนัดหยุดงานซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสหภาพแรงงานนั้นเป็นเสมือนสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง.



คำตั้ง
Taff Vale Case ; Taff Vale Judgement
คำเทียบ
คดีทัฟฟ์เวล , คำวินิจฉัยคดีทัฟฟ์เวล
คำสำคัญ
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- คดีทัฟฟ์เวล
- คำวินิจฉัยคดีทัฟฟ์เวล
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติข้อพิพาทแรงงาน
- พระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน ค.ศ. ๑๘๗๑
- พระราชบัญญัติห้ามการรวมกลุ่มแรงงาน
- พีล, รอเบิร์ต
- เวลส์
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามบัวร์
- สมาคมแรงงานอิสระแห่งชาติ
- สหภาพแรงงาน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1900–1901
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๓–๒๔๔๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-